

.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)
.gif)

เชียงตุง (Kyaing tong) เป็นจังหวัดในเขตปกครองของรัฐฉาน สหภาพพม่า หรือ ประเทศพม่า หรือ เมียนมาร์ (Myanmar) สโลแกนของเมืองคือ 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู ส่วน เมืองลา (Mong-La) เป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ที่ทางการจีนขอเช่าพื้นที่ชายแดนของเมียนมาร์เพื่อเปิดเป็นเมืองคาสิโนหวัง ดึงเงินเข้าประเทศ แต่ภายหลังคนจีนกลับติดพนันงอมแงม จีนจึงสั่งปิดบ่อน
เชียงตุง ในแผนที่ภาษาอังกฤษเขียนเป็น KENG - TUNG เพราะเขียนตามเสียงไทใหญ่ ซึ่งใช้ "เก็ง" แทน "เชียง" เช่น "เชียงใหม่" จะเรียกเป็น "เก็งเหม่อ" เป็นต้น ส่วนชาวไทเขินเรียก "เชียงตุง" เป็น "เจ็งตุ๋ง" เจ้าสายเมือง มังราย ในหนังสือของท่าน จึงแก้คำว่า KENGTUNG มาเป็น JENGTUNG ตามเสียงไทเขิน
ในชื่อ "เชียงตุง" คำว่า "เชียง" หมายถึงเมืองซึ่งรวมทั้ง "เวียง" และบริเวณรอบ ๆ ส่วนคำว่า "ตุง" นั้นมาจากชื่อฤษีองค์ที่ตำนานเมืองเชียงตุงจารึกว่าเป็นผู้สร้างเมืองเชียงตุง เรื่องนิทานดึกดำบรรพ์มีอยู่ว่า สมัยโบราณน้ำท่วมเมืองเชียงตุงจนชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ต้องหนีขึ้นดอยหมด ตอนหลังมีโอรสเจ้าฟ้าว้อง (จักรพรรดิเมืองจีน) องค์หนึ่งมาใช้อภินิหารไม้เท้าของพระองค์ ขีดพื้นดินให้กลายเป็นร่องน้ำ ระบายน้ำจากหนองไป ทีแรกขีดลงทางทิศใต้ น้ำไม่ไหลออก ครั้งที่สองต้องขีดพื้นทิศเหนือแล้วต่อสายน้ำเข้าแม่น้ำโขง น้ำถึงจะไหล การที่แม่น้ำไหลขึ้นเหนือ จึงมีชื่อว่า แม่น้ำขึน ส่วนบริเวณหนองเดิม จึงมีชื่อว่า "หนองตุง" และเมืองตุงคบุรี หรือ เชียงตุง (ก็ตั้ง) ตามชื่อของตุงคฤษี ผู้สร้างเมืองเชียงตุง"
เชียงตุง อุษาคเนย์ “ ซ้ายสิบนาฬิกา ”“ ดินแดนซ้ายสิบนาฬิกา ” ตามภาษาทหาร อันเป็นที่ตั้งของรัฐฉาน ( Shan State ) ประเทศสหภาพพม่า รัฐที่มีชนชาวไทหรือไต ชนชาติไทดั้งเดิมอย่างเช่น ไทใหญ่ ไทขึน ไทลื้อ และอีกหลายเผ่าไท อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในพม่าโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง “ เชียงตุง ” อีกหนึ่งในดินแดนแห่ง “ อุษาคเนย์ ” หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันหมายรวมถึงดินแดนในหลายประเทศประกอบรวมกันอยู่ระหว่างประเทศจีนกับอินเดีย
พม่าเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอีกหนึ่งความใฝ่ฝัน ที่เฝ้ารอโอกาสไปเยือนให้ได้สักครั้งหนึ่ง แล้วโอกาสก็มาถึง “ เชียงตุง ” คือเป้าหมายการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ เมืองเชียงตุงได้ชื่อว่าเป็น เมือง 3 จอม 7 เชียง 9 หนอง 12 ประตู ..อันมีความหมายถึงเมืองที่มีภูเขาสูงล้อมรอบอยู่ 3 จอม มีชุมชนดั้งเดิมชาวไทขึนที่ขึ้นต้นด้วยเชียงอยู่ 7 เชียง มีหนองน้ำหล่อเลี้ยงให้ความอุดมสมบูรณ์อยู่ 7 หนอง และมีประตูเมืองทั้งหมด 12 ประตู (เท่าที่เห็นปัจจุบันเหลือเพียง 1 หนอง 2 ประตู) รวมกันเป็นแว่นแคว้นที่เรียกว่า “ เขมรัฐตุงคบุรี”
เชียงตุงเป็นเมืองเล็กๆ ตั้งอยู่กลางหุบเขาบนความสูงประมาณ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เวลาที่นี่จะช้ากว่าเมืองไทย 30 นาที ประชากรส่วนใหญ่ เป็นชาวไทขึน หรือ ไทเขิน “ ชนชาวไท ” ที่รู้จักกันดีมานานแล้วจากงานศิลปหัตถกรรมเก่าแก่ระดับคลาสสิก ที่คนไทยเราเรียก “ เครื่องเขิน ” ชนเผ่าไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำขึน สายน้ำสาขาของแม่น้ำโขง จึงเรียกชนเผ่าไทกลุ่มนี้ว่า “ ชาวไทขึน ” เชียงตุงเป็นเมืองเล็กก็จริงแต่กลับมากมายด้วยวัดวา ตั้งเรียงรายกันอยู่ทั่วเมืองในลักษณะที่เรียกว่า “ วัดชนวัด ” สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต และลักษณะนิสัยของชาวไทหรือไตที่ชอบการทำบุญทาน
เชียงตุง มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มาช้านาน (สยามและล้านนา) อีกทั้ง อารยธรรม-เชื้อชาติ-ศาสนา ก็ใกล้เคียงกันจนแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้ กลิ่นอายอารยธรรมของผู้คนในดินแดนนี้ทำให้ระลึกย้อนอดีตวิถีชีวิตในประเทศ ไทยไปประมาณ 30-40 ปี ด้วยสภาพความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายของผู้คนท้องถิ่นและธรรมชาติที่สวยงาม ทำให้ผู้คนสามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเผ่าพันธุ์ตนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขินและชาวพม่า
เมืองเชียงตุงเคยเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพไทยยกทัพขึ้นมายึดเชียงตุงจากอังกฤษ แล้วประกาศให้เป็นจังหวัดหนึ่งของไทยชื่อ “ แคว้นสหรัฐไทยเดิม ” ได้จัดระบบการปกครองและจัดการการศึกษาเสียใหม่ให้เป็นแบบเดียวกับเมืองไทยอยู่ได้ราว 3 ปี ซึ่งในช่วงเวลานี้ชาวเชียงตุงบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นก็หมดไปพร้อมกับไทยซึ่งอยู่ในฝ่ายประเทศผู้แพ้สงคราม จึงจำต้องคืนเชียงตุงให้อังกฤษไปผนวกรวมดินแดนเป็นของสหภาพพม่า ตั้งแต่นั้นมาชาวเชียงตุงจึงมีฐานะเป็นแค่พลเมืองชั้นสองที่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองการปกครอง รัฐบาลพม่าเข้ามาปกครองอย่างเข้มงวดมีกฎเกณฑ์มากมายมาควบคุม จะอพยพโยกย้ายถิ่นฐานออกนอกเขตเมืองเชียงตุงไปไม่ได้ต้องอยู่ที่นี่ตลอดไป และถูกปิดตายมานานกว่า 50 ปี ท่ามกลางกระแสการกลืนกินชนชาติ จารีตประเพณี และวัฒนธรรมของพม่า จนเมื่อรัฐบาลพม่ายอมเปิดตัวเมืองเชียงตุงออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลับยังคงพบเห็นว่าชาวไทเขินเชียงตุงรักษาเอกลักษณ์ ความเป็นชนชาติไทดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี
เมืองลา มนต์เสน่ห์ของเมืองคาสิโนซึ่งเคยเต็มไปด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวาตลอดทั้งคืน เคยได้รับการขนานนามว่า the Little Las Vegas of Asia ถึงแม้ปัจจุบัน บ่อนได้ปิดตัวลงไปแล้ว และเหลือแต่เพียงตึกอาคารไว้เป็นอนุสรณ์ แต่ก็มิได้คลายเสน่ห์ของเมืองคาสิโนลงไปแต่อย่างใด โดยบ่อนคาสิโนได้ย้ายมาเปิดที่เมืองม้า ห่างจากตัวเมืองลา ออกมาทางเชียงตุง 16 กิโลเมตร
เมืองลาเป็น เขตปกครองพิเศษที่ 4 ของพม่า (Special Region Number4) ประเทศพม่ามีการปกครองแบบเผด็จการ ทหารมีอำนาจสูงสุด แบ่งการปกครองออกเป็น 7 รัฐ 7 มณฑล 4 เขตปกครองพิเศษ มีประชากรกว่า 50 ล้านคน เขตปกครองพิเศษเมืองลา เป็นเขตพิเศษกว่าเขตอื่นๆ เพราะไม่มีคนพม่า ทหาร ตำรวจ ของพม่าไม่มี พูดภาษาจีนไม่พูดพม่า ใช้เงินหยวน ไม่ใช้เงินจั๊ด ไม่ใช้กฎหมายของพม่า แต่ใช้กฎระเบียบข้อบังคับของเมืองลาโดยตรง เมืองลามีประวัติศาสตร์การต่อสู้กับทหารพม่า โดยมีจีนอยู่เบื้องหลังส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ ต้องยอมรับว่าประเทศพม่ามีชนกลุ่มน้อยเป็นจำนวนมาก ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับพม่าเช่น กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ว้า แต่กองกำลังติดอาวุธเมืองลา ถือว่า ได้บรรลุผลสำเร็จที่สามารถเจรจาวางอาวุธและแบ่งเป็นเขตปกครองพิเศษได้ โดยจีนเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยมีจางซีโฟร์ หัวหน้ากองกำลังติดอาวุธเมืองลา ร่วมเจรจาและได้เป็นเจ้าเมืองปกครองเป็นคนแรกของเขตปกครองพิเศษเมืองลา ดังนั้นเมืองลาจึงเป็นดินแดนของพม่า แต่ปกครองโดยจีน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
3 จอม คือ เนินเขาที่ส่วนใหญ๋มีวัดได้แก่ จอมทอง จอมมน และ จอมสัก
7 เชียง คือ เมืองหรืองชุมชนต่างๆได้แก่ เชียงงาม เชียงจัน เชียงลาน เชียงขุ่ม เชียงอิน เชียงยืน และ เชียงจิน
9 หนอง คือ บึงหรือหนองน้ำได้แก่ หนองตุง หนองโตง หนองเย หนองแล้ง หนองยาง หนองโปงหนองเข้หนองไค้ และ หนองตาช้าง
12 ประตู ประดูเมืองได้แก่ ประตูป่าแดง ประตูเชียงลาน ประตูง่ามฟ้า ประตูหนองผา ประตูแจ่งเมือง ประตูยางคำ ประตูหนองเหล็ก ประตูน้ำบ่ออ้อย ประตูยางเพิ่ง ประตูไก่ไห้ ประตูผายั้ง และประตูป่าม่าน